ศธ.ไม่ใช้ผลคะแนนโอเน็ต ประเมินครู – ผู้บริหาร
ก่อนหน้านี้การที่ครู รวมไปถึงบุคลากรทางการศึกษาจะสามารถเลื่อนตำแหน่ง หรือเลื่อนขั้นเงินเดือนได้นั้นจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่ถูกกำหนดเอาไว้ โดยผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนในแต่ละครั้งก็จะถูกนำมาเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เกิดข้อร้องเรียนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดสรรวงเงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่งเข้าในที่ประชุม การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรวงเงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2564) โดยได้มีการนำเรื่องของสถานศึกษาที่ได้นำเอาผลการประเมินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET มาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมฯ ขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายไม่บังคับสอบโอเน็ต แต่ผลโอเน็ตกลับมามีผลต่อการเลื่อนเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

จากประเด็นที่เกิดเป็นข้อร้องเรียนนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เปิดเผยว่า ตนได้สอบถามข้อร้องเรียนดังกล่าวไปยัง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว และได้รับคำชี้แจงว่า สพฐ. มีหลักเกณฑ์กลางที่จะจัดสรรวงเงินฯ ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว อีกทั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สพฐ. ก็ได้มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องซักซ้อมการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการและเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 ไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาครบทุกเขต
โดยในส่วนของภารกิจหลักตามบริบทของสถานศึกษาไม่มีการใช้ผลคะแนนโอเน็ต ซึ่งข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากความเข้าใจผิดของ สพป.ปทุมธานี เขต 1 ซึ่ง สพฐ.ได้มีคำสั่งให้ทาง สพป.ปทุมธานี เขต 1 ดำเนินการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวใหม่เรียบร้อยแล้ว ข้อสรุปคือจะไม่มีการนำผลการทดสอบ โอเน็ต มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกต่อไป พร้อมยังย้ำอีกว่า ‘เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับผู้บริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรนำผลการทดสอบโอเน็ต มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ นำมาเป็นผลในการพิจารณาความดีความชอบ ไม่นำมาเป็นตัวชี้วัดในการประเมิน เพื่อขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนไม่มีผลในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายใด ๆ ทั้งสิ้น’
ข้อมูลจาก : ศธ. 360 องศา