ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องรับมือกับการเรียนออนไลน์
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา หรือ เลขาฯสกศ. ได้กล่าวว่า ทางสกศ. ได้วิจัยรูปแบบการจัดการเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้สร้างผลกระทบต่อทุกฝ่าย รวมไปถึงฝ่ายระบบการศึกษาก็ได้รับผลกระทบนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2563
โดยจากการศึกษาก็พบว่ามีเรื่องทางการศึกษาที่น่าสนใจถึง 4 ประเด็นสำคัญ ที่ควรถอดบทเรียนและถ่ายทอดสู่สาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกันแบบตรงจุด โดยงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นออกได้ ดังนี้
- ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน คือกลไกสำคัญที่ต้องรู้จักการเลือกใช้รูปแบบการเรียนให้สอดคล้อง และมีความยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถผสมผสานกันได้ทุกรูปแบบการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด และการสอนออนไลน์ (Online) คือการสอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On Air) รวมไปถึงการเข้าเยี่ยมนักเรียนและกำกับใบงานให้นักเรียน เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ด้วยตัวเองระหว่างที่มีการแพร่ระบาด

- ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน จะต้องร่วมกันปรับตัว เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน และจะต้องกลับมาเรียนตามปกติ เมื่อสถานโควิด-19 เริ่มลดความรุนแรงลง ขณะที่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมถึงการศึกษา จะต้องปรับปรุงทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และต้องเร่งจัดเตรียมงบประมาณ รวมไปถึงอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่เอื้ออำนวยต่อการเรียน ซึ่งควรใช้โอกาสนี้ในการเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการสนับสนุนเพิ่มเติมกับครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่พร้อม
- ต้องสร้างการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนการเรียนรู้แก่บุตรหลายในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบแนวทางในการเรียนที่ชัดเจนของรัฐบาลในการจัดการเรียนการสอนให้ไม่ขาดตอน ซึ่งแนวทางเบื้องต้นอาจจะจัดทำคู่มือสำหรับการเรียนรู้ วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อใช้สำหรับการเรียนออนไลน์

- ผู้บริหาร คณะครู รวมไปถึงผู้ปกครอง ต้องการให้รัฐบาลมีแผนเพื่อรองรับการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal Learning) โดยต้องพร้อมประกาศใช้ได้อย่างทันการ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจในระดับหนึ่งถึงการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งการสั่งงานผ่านโซเชียลมีเดีย สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ เพื่อความเท่าเทียม และลดการเลื่อมล้ำทางการศึกษา
และถึงแม้ว่ายังไม่มีวิธีการจัดการที่ดีที่สุดแต่ทาง สกศ. จะเร่งปรับปรุงระบบการศึกษาและจัดการการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบปัจจุบันมากที่สุด
ข้อมูลจาก : ครูบ้านนอก.คอม